เทลั่มทอล์ก...กมล สุกิน, Editor-in-Chief, GreenNews (ประเทศไทย)
Interview

เทลั่มทอล์ก...กมล สุกิน, Editor-in-Chief, GreenNews (ประเทศไทย)

ช่วยบอกเล่าความเป็น กมล สุกิน หน่อยค่ะ
เป็นคนทำงานข่าวธรรมดาๆคนหนึ่ง ส่วนใหญ่ทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อมแต่เป็นข่าวสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่แบบสายธรรมชาติแบบท่องป่าไพร ส่วนข่าวสิ่งแวดล้อมแนวธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ก็ทำอยู่แล้ว แต่ข่าวสิ่งแวดล้อมแบบที่ผมทำอยู่ก็จะกว้างกว่านั้นมาก เป็นพวกข่าวสิ่งแวดล้อมเชิงสังคมที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, วิทยาศาสตร์ สุขภาพ, การศึกษา, วัฒนธรรม ฯลฯ เหมือนมองเมืองไทยมองโลกผ่านแว่นสีเขียว สำหรับผมงานข่าวเทียบไปก็เหมือนเป็ด คือแตะไปทุกเรื่องแต่ไม่ลึกซักเรื่อง แต่ข้อดีคือเรามีโอกาสเห็นภาพรวม, ภาพใหญ่และความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญ มีโอกาสมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ระหว่างทางไปด้วยได้

บทบาทใดเป็นบทบาทแรกในการเริ่มทำงานสื่อและมีเส้นทางอย่างไรจนมาทำงานในบทบาทปัจจุบัน
ที่แรกทำที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันตำแหน่งนักข่าวประจำโต๊ะข่าวธุรกิจ-สิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของอาชีพนักข่าว ผู้จัดการรายวันเขาก็มียุทธศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากมีความประสงค์จะยกระดับคุณภาพข่าวและการทำข่าวให้เป็นมืออาชีพใกล้เคียงกับสื่อตะวันตก เลยมีการเปิดโต๊ะข่าวธุรกิจ-สิ่งแวดล้อมขึ้นและอยากได้นักข่าวที่มีแบ็คกราวน์ด้านวิทยาศาสตร์มาทำซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้ามากสำหรับยุคนั้น เลยทำให้ผมซึ่งเพิ่งจบตรีด้านเคมีมาหมาดๆ ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการข่าวยาวมาจนถึงวันนี้

พอได้เข้ามาทำ ก็เจอของจริง ต้องเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ถ้าเป็นวิชาเรียนก็คงประมาณ “นักข่าวเบื้องต้น Journalism 101” ทั้งวิธีทำข่าว, วิธีสัมภาษณ์, การเขียน, การถ่ายรูป, เลือกรูป ฯลฯ อะไรขาดก็หา ภาษาไม่ได้หาทางเรียนนอกเวลา
จากเด็กหลังเขาจากเชียงใหม่อย่างผมเลยหลงเสน่ห์งานข่าวสิ่งแวดล้อมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น รู้ตัวอีกทีก็ทำมากว่า 20 แล้ว จากหนังสือพิมพ์ภาษาไทยผู้จัดการรายวันก็มาทำภาษาอังกฤษที่ The Nation ไปเป็นบรรณาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ Chinadialogue สำนักข่าวออนไลน์ต่างประเทศและตอนนี้ก็เป็นบรรณาธิการที่ GreenNews สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

เพิ่งมารับตำแหน่งบรรณาธิการของสำนักข่าว GreenNews มีแนวทางในการบริหารและนำทีมของสำนักข่าวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
สนุกและท้าทายมาก ภารกิจของเราคืออยากทำข่าวสิ่งแวดล้อมให้มีนัยยะกับชีวิตผู้คนจริงๆ โดยเฉพาะคนในยุคสื่อ Disruption แถมเจอโควิดอีก โจทก์เราคือทำยังไงจะให้ข่าวสิ่งแวดล้อมของเราได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้ในเชิงคุณภาพ
เรามีการปรับโลโก้ใหม่, ปรับสไตล์การนำเสนอ, รูปแบบและช่องทาง รวมถึงนโยบายการรับการสนับสนุนด้านการเงินจากองค์กรข้างนอก เนื่องจากGreenNews เป็นสำนักข่าวภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร จุดแข็งคือมีเครือข่ายนักข่าวคุณภาพทั่วประเทศ, มีต้นทุนประสบการณ์ที่ดี แต่จุดอ่อนคือต้องพึ่งการสนับสนุนด้านการเงินจากภายนอก การรีแบรนด์ครั้งนี้ถึงต้องรวมถึงมิติการเงินด้วย เราอยากให้นโยบายการรับการสนับสนุนด้านการเงินใหม่มีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์ทั้งแก่ผู้ให้การสนับสนุนในเชิงประเด็นและตอบโจทย์กองบรรณาธิการเรื่องมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพงานข่าวไปพร้อมกัน ซึ่งจริงๆก็ท้าทายมาก แต่ต้องทำ เพราะเราอยากให้นักข่าวเราสามารถออกไปทำข่าวโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีงบพอเดินทางไปทำข่าวนั้นๆ มั้ยนักข่าวของเราควรจะใช้พลังไปกับผลิตข่าวและพัฒนาคุณภาพข่าวมากกว่า
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็น่าจะได้เห็นโฉมใหม่ของ GreenNews เต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงมีนาคมเป็นต้นไปช้าสุดก็น่าจะช่วงต้นเมษายน

มองว่าอะไรคืออุปสรรคหรือความท้าทายในการทำข่าวสิ่งแวดล้อมในไทย และมีแนวทางอย่างไรที่เราจะรับมือกับอุปสรรคหรือความท้าทายเหล่านี้อย่างไร
คิดว่า Media Disruption กับ Covid-19 เป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งจริงๆแล้วคงเหมือนกับสื่อทั่วประเทศและทั่วโลก เป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทายของวงการสื่อ เราต้องเรียนรู้ใหม่หมด ต้นทุนประสบการณ์ที่มีแทบจะใช้ไม่ได้หากไม่มีการปรับใช้ให้เหมาะสม ที่สำคัญต้องเหมาะสมกับตัวเอง เพราะแนวโน้มโลกจากนี้จะไม่มีสูตรของความสำเร็จที่ชัดเจนและใช้ได้เสมออีกต่อไป จะมีแต่สูตรที่ใช้ได้หรือที่ใช้ไม่ได้กับเรากับองค์กรเรามากกว่า
ส่วนแนวทางในการรับมือที่ GreenNews เราพยายามออกแบบการทำงานที่ให้ทุกคนในทีมเปิดหูเปิดตาให้กว้าง, ยืดหยุ่นให้เป็น, ใช้จุดแข็งตัวเองให้เป็น เพื่อที่จะสามารถทำงานให้กับทีมได้อย่างคล่องตัวเหมือนเป็นวัฒนธรรมการทำงานของเรา เราคิดว่าด้วยการปรับตัวของเรานี้ น่าจะพอทำให้เราพอจะรับมือกับพายุใหญ่ทั้งสองลูกที่ว่าได้บ้าง ที่เหลือก็คงเป็นงานละเอียด การจัดการกุมหางเสือเรือ ท่ามกลางพายุแรง ที่จะวัดศักยภาพของทีมในหน้างาน

หมายงานหมายข่าวประมาณไหนที่ทางสำนักข่าว GreenNews มองหา 

ในเชิงข่าวสารแล้ว GreenNews ให้ความสำคัญกับทุกความเคลื่อนไหวในทุกวงการ เรายินดีรับทุกข่าวสารที่ทุกแหล่งอยากแชร์หรือส่งมาให้เรา เพราะทุกข้อมูลล้วนมีความสำคัญไม่ทางใดก็ทางหนึ่งสำหรับการทำข่าวสิ่งแวดล้อมแบบ GreenNews แต่บางข่าวสารที่เราได้รับ อาจจะยังไม่ได้ถูกใช้งานทันทีทันใด บางอันเราต้องนำไปพัฒนาต่อเพื่อทำออกมาเป็นคอนเทนท์ข่าวในแบบของเราและด้วยคุณภาพแบบ GreenNews
ถ้าเข้าใจจุดนี้และไม่ได้คาดหวังว่าข่าวที่ส่งมาจะต้องได้ลงเลยทันที ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารแบบไหนรวมถึงข่าวพีอาร์เราก็ยินดีรับเสมอ

ในฐานะสื่อสายข่าวสิ่งแวดล้อม มีเรื่องราวใดบ้างที่คุณคิดว่าต้องจับตามองในปีนี้
ถ้าจะลองมองภาพรวมในประเทศ ประเด็นพื้นฐานอย่างดินน้ำลมไฟ พวกที่ดิน, ป่าไม้, คนในเขตป่า,น้ำเสีย, แล้ง, น้ำท่วม,เขื่อน, มลพิษอากาศ PM 2.5, ภาวะโลกร้อน, โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆและไฟป่า
ปัจจัยหลักๆที่จะกระหน่ำให้ประเด็นพื้นฐานเหล่านี้วิกฤตเข้มข้นขึ้นก็น่าจะมีปัจจัยการเมืองทั้งจากรัฐบาลและการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพราะนโยบายรัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างมีผลกับประเด็นสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่ว่าเยอะ ปัจจัยนอกประเทศคือบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะมีผลกับทิศทางการจัดการสิ่งแวดล้อมบ้านเรา ทั้งข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก, ข้อตกลงการค้าอย่าง CPTPP (ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก) และการเมืองสหรัฐกับจีน ที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อปัญหาและการจัดการประเด็นพื้นฐาน ดินน้ำลมไฟบ้านเรา รวมถึงการจัดการแม่น้ำโขง

More stories


Telum Media

ฐานข้อมูล

นักข่าว
กมล สุกิน

Editor

สำนักสื่อ
GreenNews

1 contact, 1 media request

Get in touch to hear more

ขอดูการสาธิต

Telum Media

การแจ้งเตือน

Regular email alerts featuring the latest news and moves from the media industry across Asia Pacific Enjoy exclusive daily interviews with senior journalists and PRs as well as in-house editorial and features from the Telum team

สมัครรับการแจ้งเตือน